โดยปกติแล้ว "เทศกาลสงกรานต์" ถือเป็นวันนัดพบกันของหลายครอบครัว เพราะลูกหลานที่ไปอยู่ต่างถิ่นต่างแดนจะได้เดินทางกลับมาพบปะญาติพี่น้องอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปี 2563 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกวันหยุดราชการในช่วงนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ เพื่อสกัดการเดินทางข้ามจังหวัด อันจะเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ประเพณีวันสงกรานต์ปีนี้ต่างไปจากทุก ๆ ปี
อย่างไรก็ตาม วันสงกรานต์ ก็ยังคงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งเป็นวันสำคัญที่เราควรทราบประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันนี้ กระปุกดอทคอมจึงหยิบยกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์มาเล่าให้ฟังค่ะ
ประวัติวันสงกรานต์
สำหรับคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สํ-กรานต" ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการย้ายที่ เคลื่อนที่ โดยหมายความอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง ส่วนเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กันมากับประเพณีตรุษจีน จึงมีการเรียกรวมกันว่า "ประเพณีตรุษสงกรานต์" ซึ่งหมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั่นเอง
ทั้งนี้ วันหยุดสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ แบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก
ส่วนกิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การร่วมกันทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน เป็นต้น
วันสงกรานต์
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์
ในสมัยโบราณ คนไทยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตกราว ๆ เดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าเป็นช่วงฤดูหนาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ให้เป็นวันที่ 1 เมษายน แต่เมื่อในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นสากล คือวันที่ 1 มกราคม แต่กระนั้น คนไทยส่วนมากก็คุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินเกรกอรี่
นอกจากประเทศไทยได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว รู้หรือไม่ว่า ประเทศมอญ พม่า ลาว ก็นำเอาวันดังกล่าว เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน
วันสงกรานต์
สำหรับภาษาและความเชื่อของวันสงกรานต์ในแต่ละภาคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ ...
ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" ซึ่งในสมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้เป็นวันครอบครัว
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่
ภาพจาก Passakorn/Shutterstock
ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันสังขารล่อง" ซึ่งมีความหมายว่า อายุสิ้นไปอีกปี
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเน่า" เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันพญาวัน" คือวันเปลี่ยนศกใหม่
ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้
- วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า" หรือ "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
- วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่าง ๆ แล้วไปทำบุญที่วัด
- วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่น
คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ประเพณีสงกรานต์ล้านนา หมายถึง การแสดงความเคารพ และขออโหสิกรรมที่ตนอาจจะเคยล่วงเกิน รวมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชา ส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยนำไปไหว้ และผู้ใหญ่ก็จะจุ่มเอาน้ำแปะบนศีรษะก็เป็นอันเสร็จพิธี
ตำนานนางสงกรานต์
ทำไมวันสงกรานต์ ต้องมี "นางสงกรานต์" และนางสงกรานต์ทั้ง 7 คนเป็นใครบ้าง มีชื่ออะไร รวมถึงคำทำนายนางสงกรานต์แต่ละปีทำนายไว้อย่างไรบ้าง อ่านต่อได้ที่ ตำนานนางสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์
อย่างไรก็ตาม พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนบ้านเรือนละแวกใกล้เคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยและค่านิยม จากเดิมชาวบ้านจะใช้น้ำเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยถือว่า น้ำจะแก้ความร้อนของฤดูร้อน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงระลึกบุญคุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ส่วนประเพณีวันสงกรานต์ในสมัยใหม่นั้น จะเป็นประเพณีกลับบ้านเกิดเสียมากกว่า หรือถือว่าเป็นวันครอบครัว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เข้าชม : 1610
|