[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
Savitree Nongkha https://sites.google.com/view/skr-tambonkrasom/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81
 

  

ข่าวเด่น
“วัยรุ่นฆ่าตัวตาย” สัญญาณขอความช่วยเหลือที่สังคมไม่ได้ยิน

พฤหัสบดี ที่ 31 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562


 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข่าวเด็กและวัยรุ่นฆ่าตัวตายปรากฏในสื่อบ่อยครั้ง โดยสถิติของกรมสุขภาพจิตในปี 2561 ระบุว่ามีเด็กและเยาวชนอายุ 10 – 19 ปี ฆ่าตัวตายถึง 131 คน และผู้ที่มีอายุ 20 – 29 ปี ฆ่าตัวตายถึง 645 คน ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสลดใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม คนในสังคมส่วนใหญ่กลับมองว่าปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นเป็นเรื่องของความอ่อนแอส่วนบุคคล หลายคนมองว่าเด็กเหล่านี้หนีปัญหาและสร้างความเสียใจให้คนรอบข้าง แต่กลับไม่มีใครตั้งคำถามว่า เหตุใดวัยรุ่นที่ควรจะเป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยความสดใสและพลังในการทำสิ่งต่างๆ กลับพยายามทำร้ายตัวเอง และจบชีวิตลง ดังนั้น Sanook จึงขอพาคุณไปเจาะลึกถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา รวมถึงวิธีการ “จับสัญญาณ” และรับมือ หากคนรอบข้างของคุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง และจากคุณไปอย่างไม่มีวันกลับ

>> ช็อกกลางห้างดัง ชายนิรนามกระโดดระเบียงชั้น 4 เสียชีวิตจมกองเลือด
>> เฟรชชี่ปี 1 มหาวิทยาลัยดัง ดิ่งตึกเรียนดับ อาจารย์เล่านาทีช่วยกันยื้อชีวิตแต่ไม่สำเร็จ
>> รมควันวันวาเลนไทน์ นักศึกษาดาวคณะดับคาหอ สั่งเสียห้ามเก็บศพก่อนเวลาตี 3

โรคซึมเศร้า” สาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น

เมื่อมีรายงานข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตาย เราจะพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งจิตแพทย์ยืนยันว่า โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก และมีความเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นนั้นเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว แต่ไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับในยุคปัจจุบัน ที่บุคลิกลักษณะของวัยรุ่นและสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น จนกระทั่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้น ก็ไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว แต่มีหลายอย่างผสมผสานกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม

สำหรับปัจจัยด้านร่างกาย พันตรีหญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งกรณีนี้สามารถรักษาได้โดยการใช้ยา

“เราพูดเรื่องสารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters ในยุคนี้บ่อยๆ เพราะสมัยก่อน เวลาเราไม่สบายใจ ก็เล่า ระบาย รับบริการให้คำปรึกษา 45 นาที หรือ 1 ชม. ใจมันก็เบาแล้ว แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ปรึกษา 2 ชม. 3 ชม. ก็ไม่หาย ก็เลยเชื่อเรื่องสารเคมีในสมอง เราให้คนไข้ที่ใช้วิธีให้คำปรึกษาแล้วไม่หายไปพบจิตแพทย์ ก็ได้รับยาในกลุ่ม anti-depressant หรือยาต้านเศร้า พอกินแล้วอารมณ์ก็ดีขึ้น ก็ค่อนข้างพิสูจน์ได้ว่ายามันช่วยปรับสารเคมีบางอย่างในร่างกาย และยังมีเรื่องพันธุกรรม การใช้ยาเสพติด อุบัติเหตุรุนแรงทางสมอง ผู้สูงอายุที่ร่างกายเสื่อม สมองเสื่อม ก็มีผลต่ออารมณ์เช่นกัน พวกนี้เป็นปัจจัยทางชีวภาพทั้งนั้น”

ส่วนปัจจัยด้านจิตใจ พันตรีหญิง ดร.พนมพร กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีความเปราะบางทางจิตใจ และมีกลไกการป้องกันตัวเองเป็นการโทษตัวเอง ทำให้มีวิธีการเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่เหมาะสม

“ด้วยความที่ปัจจัยยุคใหม่มันซับซ้อน วัยรุ่นสมัยนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีแก่นของความเข้มแข็ง ที่จะเป็นปัจจัยปกป้องเวลามีปัญหา เราอยู่ในมหาวิทยาลัยยิ่งเห็นเลย บางทีเจอเด็กเป็นซึมเศร้าจนต้องโทรหาผู้ปกครอง เพราะเราไม่สามารถรับมือได้คนเดียว เคยเจออย่างแรงเลยคือ เขาบอกว่าคืนนี้หนูจะอยู่อย่างไร เขาอยู่กับเพื่อนบนคอนโดชั้น 8 เพื่อนคงรับผิดชอบไม่ไหว ครูจะพากลับบ้านก็คงไม่ใช่ เลยต้องพาไปพบหมอ ขอแอดมิทที่โรงพยาบาลเลย” พันตรีหญิง ดร.พนมพรเล่า

ประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.พญ.วรุณา กลกิจโกวินท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ที่มองว่าวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะขาด “ความภาคภูมิใจในตัวเอง” (self-esteem) ซึ่งเป็นเกราะรับแรงปะทะจากปัญหาที่เข้ามา

“เด็กพวกนี้จะไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง พอเจอสิ่งที่กระตุ้นความเครียดเข้านิดหน่อยก็ไปเลย พอความภูมิใจในตัวเองต่ำ ก็เหมือนเราตัวเล็กๆ พอมีอะไรมากระทบก็ล้มง่าย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองที่ดี เวลามีอะไรมากระแทกจะอยู่ได้ดีกว่า เพราะว่ามันเข้มแข็งกว่า มีภูมิ ก็จะไม่เป็นอะไรมาก เพราะฉะนั้น ความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เด็กมั่นใจในตัวเอง เห็นสิ่งดีๆ ในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น บางคนเอาคุณค่าของตัวเองไปยึดไว้กับคนอื่น เขาจะไม่เห็นข้อดีของตัวเองเลย คิดว่าฉันต้องทำแบบนี้ให้คนอื่นเห็นคุณค่า แล้วก็ต้องไปรอคอยจากคนอื่น”

สำหรับปัจจัยด้านสังคม รศ.พญ.วรุณา มองว่า สภาพสังคมปัจจุบันที่เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายและหลากหลาย สามารถนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ และความรวดเร็วในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ก็หล่อหลอมให้เด็กยุคใหม่ไม่มีความอดทนรอคอย ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่าย อย่างไรก็ตาม พันตรีหญิง ดร.พนมพร ระบุว่า สังคมโดยรวมอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยที่เสริมและกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะหน่วยทางสังคมที่ใกล้ตัวที่สุด คือครอบครัวและเพื่อน

วัยรุ่นคือเด็กที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องการการยอมรับ ความเข้าใจ และอิสระ เพราะเขากำลังจะเปลี่ยนผ่าน คือจะเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ ตามพัฒนาการปกติ เด็กวัยนี้เขาก็อยากจะทำอะไรเอง เป็นตัวของตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน เขาก็ต้องการความรัก แต่อาจจะไม่ใช่รูปแบบเดิม แต่บางทีพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ ตอบสนองไม่ถูกวิธี เด็กวัยรุ่นก็จะรู้สึกไม่มีความสุข นอกจากจะแสดงออกทางอารมณ์ ก็จะเป็นพฤติกรรมต่อต้าน พ่อแม่ก็จะเห็นว่าลูกก้าวร้าว มันก็ไปกันใหญ่ เด็กก็จะรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บ้าน ออกไปหาเพื่อนดีกว่า แต่พ่อแม่ก็แปลความหมายไปว่าเด็กคนนี้ไม่รักดี จะเห็นว่ามันเป็นวงจร มันเป็นการผลักเด็กออกไป”

นอกจากการขาดความเข้าใจในพัฒนาการตามวัยของวัยรุ่นแล้ว รศ.พญ.วรุณา ยังกล่าวอีกว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวก็ส่งผลต่อตัวตนของวัยรุ่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูแบบใช้ความรุนแรง ทำให้เด็กเติบโตมาแบบไม่ได้รับความรัก หรือการเลี้ยงแบบทะนุถนอมมากเกินไป ไม่ปล่อยให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็ทำให้เด็กขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่พบมากในปัจจุบันคือการบูลลี่ หรือการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญ โดย รศ.พญ.วรุณาอธิบายว่า

“มีงานวิจัยออกมาว่าการบูลลี่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ระยะหลังเราเจอเรื่องการบูลลี่เยอะ แต่ตามพัฒนาการของวัยรุ่น เพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเขา ทำให้เขาไม่อยากไปหาหมอ เหมือนไปแล้วก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ พอเขาเครียด แล้วก็ปรับตัวกับมันไม่ได้ ก็จะเข้าสู่วงจรตรงนี้ เพราะพอคนเราไม่เป็นที่ยอมรับ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ก็จะรู้สึกล้มเหลว ความภาคภูมิใจก็ไม่มี มันก็กระทบต่อตัวตนของเขา แล้วบางทีเด็กก็แก้ปัญหาไม่เป็น เมื่อหาวิธีอื่นไม่ได้ ก็ต้องหันมาทำร้ายตัวเอง”

เมื่อวัยรุ่นคนหนึ่งถูกโจมตีด้วยโรคซึมเศร้า อาการเบื้องต้นที่จะตามมาก็จะประกอบด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน บางคนนอนไม่หลับ หรืออาจจะนอนมากเกินไป ขาดความอยากอาหารจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หรือกินอาหารมากเกินไปจนน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการทางกายเหล่านี้จะส่งผลไปถึงพฤติกรรม เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำไม่ดี ลืมง่าย เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง แต่ที่สำคัญคืออาการทางอารมณ์ ที่อาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองในที่สุด

“อาการด้านอารมณ์ของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็คือ เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากจะทำอะไร ทำอะไรก็ไม่มีความสุข อะไรที่เคยทำแล้วสนุกมันก็ไม่สนุก หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ บางคนคิดลบไปหมด โทษตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มองไม่เห็นอนาคต คือมันจะลบหมดเลย ทั้งลบกับตัวเอง ลบกับคนอื่น และลบต่ออนาคต รู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีใครรัก และสิ่งที่ทำให้เขามาหาหมอก็คือการทำร้ายตัวเอง” รศ.พญ.วรุณากล่าว

 

ฆ่าตัวตาย = ขอความช่วยเหลือ

เคสที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนแล้ว แต่ว่าตรวจไม่พบ ไม่ใช่ว่าพอเป็นซึมเศร้าแล้วต้องฆ่าตัวตายเลย แต่มันต้องสะสมมาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ก็มักจะฆ่าตัวตายได้สำเร็จ บางคนก็มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง แต่บางคนครั้งเดียวก็สำเร็จเลย โดยเฉพาะผู้ชายจะฆ่าตัวตายได้สำเร็จมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากฆ่าตัวตาย แต่มันเหมือนเขาขอความช่วยเหลือแล้วมันไม่มีใครตอบเขา” รศ.พญ.วรุณาอธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย พร้อมขยายความว่า ที่จริงแล้ว ยังมีคนที่ฆ่าตัวตายโดยที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าด้วย แต่ก็เป็นส่วนน้อย เช่น คนไข้ที่มีอาการทางจิต อาจจะมีเสียงสั่งให้ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่าวัยรุ่นคนหนึ่งกำลังคิดฆ่าตัวตาย พันตรีหญิง ดร.พนมพร อธิบายว่า สามารถแสดงออกได้ 2 ลักษณะ คือการใช้คำพูด เช่น “ไม่อยากอยู่” “ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” ซึ่งขัดกับลักษณะของวัยรุ่นที่มักจะสนุกสนานกับชีวิต และพฤติกรรม เช่น เริ่มแยกตัวออกจากกลุ่ม นั่งเงียบ เหม่อลอย มาเรียนสาย ขาดเรียน หรือแม้กระทั่งการโพสต์รูปที่ดูหม่นมืด หรือมีสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับความตายลงในโซเชียลมีเดีย ก็เป็นสัญญาณที่คนรอบข้างต้องใส่ใจ

ฟังเสียงคนคิดฆ่าตัวตาย

แม้ว่ากรณีวัยรุ่นฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะถูกอธิบายว่าเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น กลับเต็มไปด้วยอคติและการขาดความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า ทั้งการตัดสินการกระทำของเด็กว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ การตำหนิว่าการฆ่าตัวตายเป็นการทำบาป ไปจนถึงการผลักไสให้คนที่คิดฆ่าตัวตายลงมือกระทำจริงๆ

“โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วย เพียงแต่โรคทางจิตเวชมันไม่เหมือนโรคทางกาย โรคทางกายมันเห็นชัด ยอมรับได้ง่าย แต่โรคทางใจมันเป็นข้างใน มันเป็นความคิด เป็นอารมณ์ มันก็เลยดูยาก สิ่งที่คนเห็นก็คือพฤติกรรม มันก็จะไปตัดสิน ก็ให้ตายๆ ไป ยิ่งพูดแบบนี้ยิ่งทำให้เด็กแย่นะ แล้วบางคนก็ไปทำจริงๆ แต่ถ้าไม่มีอะไร ใครจะอยากทำร้ายตัวเอง เขาต้องมีความทุกข์อะไรบางอย่าง แล้วหาทางออกไม่เจอ การที่เขาทำร้ายตัวเองมันเป็นสัญญาณที่เขาเรียกหาความช่วยเหลือ แต่ผู้ใหญ่กลับไปแปลความหมายเป็นอีกอย่าง แต่จริงๆ แล้วเราต้องดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา รับฟังเขา เข้าใจเขา จะช่วยได้เยอะมาก” รศ.พญ.วรุณากล่าว

เมื่อการรับฟังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย ก็ใช้วิธีการนี้ในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย โดยเรียกว่า “การฟังด้วยใจ”

“หมายเลขโทรศัพท์ของสะมาริตันส์จะยาว แต่มันมีอะไรที่ทำให้เขาโทรมา แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างอยากพูด อยากคุย แล้วบางทีจะเหมือนมีอารมณ์ที่คุยกับเพื่อนไม่ได้ หรืออาจจะคุยจนไม่มีใครเขาอยากฟังแล้ว ก็โทรมาเล่า บ่น ระบาย เราเองก็จะชวนคุยให้เขาได้พูด อุณหภูมิอารมณ์ก็จะเย็นลง ค่อยๆ คุย ใช้คำถามปลายเปิด ใช้เทคนิคเงียบ ตั้งใจฟัง สะท้อนอารมณ์ พอเขาค่อยๆ เล่า ค่อยๆ ระบาย ใจมันก็นิ่ง ปัญญาก็เกิด เห็นทางออกในแต่ละประเด็นได้” พันตรีหญิง ดร.พนมพรอธิบายการทำงานของสมาคม

แต่การรับฟังด้วยใจก็ไม่ใช่แค่หน้าที่ของอาสาสมัครเพียงอย่างเดียว คนทั่วไป โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัวและโรงเรียน ก็สามารถทำได้เช่นกัน

“เราคิดว่าความรัก ความเข้าใจ และการรับฟังโดยไม่ตัดสินสำคัญมาก โดยเฉพาะในวัยรุ่น ครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ พอเด็กพูดนิดหน่อยก็ว่าแล้ว แค่คุณฟังเขา รับฟังเขาก่อน เหมือนเป็นพวกเดียวกับเขาก่อน แล้วอะไรที่คุณอยากจะให้เขาแก้ ก็ค่อยไปแตะ แต่ก็ต้องเข้าใจเด็กด้วยว่าเขาเป็นโรค แต่ถ้าสมมติเราลงไปที่โรงเรียนได้ด้วย ให้ครูเข้าใจเขา ก็จะช่วยได้ มันต้องช่วยกัน” รศ.พญ.วรุณากล่าว

อย่างไรก็ตาม การรับฟังโดยไม่นำมุมมองส่วนตัวเข้าไปตัดสินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ซึ่งพันตรีหญิง ดร.พนมพร เล่าว่า อาสาสมัครทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมและสัมภาษณ์อย่างเข้มข้น กว่าจะสามารถทำงานได้จริง และผลที่ได้รับก็มากกว่าการหยุดยั้งการฆ่าตัวตาย

“พอเราเป็นอาสาสมัครและอยู่ในโหมดของการตั้งใจรับฟัง เหมือนเราถอยตัวเอง สับคัตเอาท์ชีวิตตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าผู้ที่โทรมาเป็นใคร เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เราเองก็เป็นคน มีอารมณ์ความรู้สึก สิ่งที่ได้จริงๆ แล้ว ต้องบอกเลยว่าบางทีไม่ใช่ผู้โทรหรอก เราเองที่เป็นอาสาสมัครนี่แหละที่เติบโต หัดหยุดตัวเองเป็นในการเพื่อช่วยผู้โทรให้หาทางออกปัญหาแต่ละอย่าง มันทำให้เราเองมีระบบคิด เราจะได้ลับคมระบบคิดของเรา เมื่อเจอเรื่องราว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อาสาสมัครจะได้เยอะ” พันตรีหญิง ดร.พนมพรกล่าว

นอกเหนือจากการรับฟัง สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นต้นตอของการฆ่าตัวตาย ดังนั้น เราจึงควรรู้จักและเข้าใจโรคนี้ เพื่อให้สามารถสังเกตความผิดปกติของคนรอบข้างได้เร็วขึ้น หากมีอาการเกิน 5 ข้อ และเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ ก็ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาทันที รวมทั้งผู้ป่วยและครอบครัวจะต้องทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำ

“กรมสุขภาพจิตก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ โดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งขั้นตอนแรกก็ต้องมีการป้องกันตั้งแต่เด็ก ต้องมีโปรแกรมที่จะสร้างภูมิ สร้างทักษะชีวิต ให้เขามีภูมิที่แข็งแกร่งขึ้น พอรู้ว่าเป็นก็รีบรักษา เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นอีก แล้วทำอย่างไรให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็คือต้องให้การสนับสนุน การรักษาก็จะมีหลายรูปแบบ อาจจะต้องใช้ยาที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น แต่สำหรับเราเอง เราคิดว่ามันจำเป็นต้องรักษาแบบองค์รวม คือยาจะเป็นส่วนของเรื่องชีวภาพ แต่ส่วนของจิต เราจะทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกว่าเขาภูมิใจในตัวเองได้ เราก็ต้องให้โอกาสเขาทำ ทำแล้วสำเร็จก็ชมเขา ให้กำลังใจเขา ให้เขารู้สึกมั่นใจในตัวเอง สอนเด็กให้มีทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการเข้าสังคม การคบเพื่อน นี่คือสิ่งที่เราช่วยสนับสนุนด้านจิตใจด้วย” รศ.พญ.วรุณากล่าว

วัยรุ่นฆ่าตัวตาย นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเด็กๆ แล้ว ยังถือเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งสัญญาณเตือนให้คนในสังคมหันมาสังเกตและ “รับฟัง” เรื่องราวผู้อื่นอย่างไม่ตัดสิน แม้ว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาจะไม่ใช่รางวัลเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ แต่การรับฟังก็อาจช่วยชีวิตคนได้อีกหนึ่งชีวิตก็เป็นได้

“ถ้าสังคมมีความเอื้ออาทร รับฟังกันด้วยใจ เวลามีอะไรแล้วเราหยุดตัวเอง รับฟังอีกฝ่าย แล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา สื่อสารในทางบวก มันก็ทำให้ใจเขามีพลังจะสู้ต่อ ไม่ใช่เอาแต่กระหน่ำมุมลบๆ มันก็บั่นทอนพลัง ถ้าเราช่วยกัน สื่อช่วยกัน ถ้าเราเห็นเขาเลียนแบบของไม่ดี เราก็ให้สิ่งดี เราก็ให้อะไรเยอะมากต่อสังคม” พันตรีหญิง ดร.พนมพรกล่าว



เข้าชม : 992


ข่าวเด่น 5 อันดับล่าสุด

      การประชุมแนวทางการจัดการแข่งขันกีฬา กศน.เกมส์ ครั้งที่ 6 14 / ธ.ค. / 2563
      การประชุมแนวทางการจัดการแข่งขันกีฬา กศน.เกมส์ ครั้งที่ 6 14 / ธ.ค. / 2563
      ไฟเขียวขยายสิทธิบัตรทอง ครอบคลุมการรักษา \\\"โควิด-19\\\" 3 / มี.ค. / 2563
      “วัยรุ่นฆ่าตัวตาย” สัญญาณขอความช่วยเหลือที่สังคมไม่ได้ยิน 31 / ต.ค. / 2562
      บช.น.แจ้งเลี่ยงเส้นทางซักซ้อมรปภ.งานพระบรมศพ 15 / ก.ย. / 2560


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอตะกั่วทุ่ง
  ตำบลกระโสม   อำเภอตะกั่วทุ่ง   จังหวัดพังงา  ๘๒๑๓๐ โทร ๐๗๖ - ๔๙๖๕๓๖ โทรสาร ๐๗๖ - ๔๙๖๕๓๖
นายชลทิตย์  ชิตรัตฐา  ครู ศกร.ตำบล และ นางธีรัตม์  พูลสวัสดิ์  บรรณารักษ์  ผู้ดูแลระบบ
 
   ขอบคุณ อ.นิกร เกษโกมล ผู้พัฒนาcms
Click Here to get Free Counter
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05