โรคซิฟิลิส ซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา
ซิฟิลิส
อาการของซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis) จะเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อ ก้นขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) โดยเฉพาะตามอวัยวะเพศและริมฝีปากหลังการได้รับเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ แต่ก็อาจพบอาการได้ในช่วง 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวดและจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา ระยะที่ 2 (Secondary Stage) โรคจะเริ่มพัฒนาจากระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน ระยะสงบ หรือ Latent Syphilis เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis) หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคพัฒนามาจนถึงระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง เส้นประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกายเมื่อเชื้อไปอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ สาเหตุของซิฟิลิส โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย โดยเฉพาะในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
ในช่วงระยะที่ 1-2 ของการติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้สิ่งของร่วมกันในบางกรณีที่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโดยตรงอาจไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การใช้ห้องน้ำ การสวมเสื้อผ้า หรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รวมไปถึงระยะสงบของโรคที่มักไม่ค่อยมีอาการและไม่เกิดการติดต่อ
การวินิจฉัยซิฟิลิส
แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกายว่าพบแผลหรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิส ก่อนจะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มักใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่
การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสขึ้น การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังหรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่ ทั้งนี้ การวินิจฉัยต้องดูระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นร่วมด้วย เนื่องจากในบางระยะอาจไม่มีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย มักพบความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ แพทย์จึงอาจมีการเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในบางรายตามระยะโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น แพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap/Lumbar Puncture) ในกรณีที่คนไข้มีอาการทางระบบประสาท แต่ไม่พบอาการอื่น ๆ ของโรค การรักษาซิฟิลิส
โดยทั่วไปโรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ในช่วงระหว่างการรักษา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้นหากได้รับเชื้อจากผู้อื่นอีกครั้ง และแนะนำให้คู่นอนมาตรวจด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยยากลุ่มเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ที่แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G) ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใด
ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์ หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ 18-24 ล้านยูนิตต่อวัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3-4 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10-14 วัน หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10-14 วัน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ไข้ขึ้น เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน บางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ช่วยบรรเทาอาการ ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินและปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อต่อไป โรคซิฟิลิส syphilis สุขภาพ
www.honestdocs.co/syphilis-warts www.honestdocs.co
เข้าชม : 431
|