ยาแก้ปวด (analgesics) สุขภาพ -A+A ยาแก้ปวด (analgesics) คือ ยาที่ใช้ในการรักษา หรือบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เป็นต้น การรักษาอาการปวดนั้นมีหลายวิธี อาการปวดบางอย่างใช้เพียงการพักผ่อนให้เพียงพอก็สามารถหายได้เอง แต่อาการปวดบางชนิดอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษา หรือบรรเทาอาการ ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงยาแก้ปวดชนิดต่างๆ รวมไปถึงข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยา ยาพาราเซตามอล (paracetamol) หรือ ยาอะซิตามิโนเฟ่น (acetaminophen) เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้แก้ปวดและลดไข้ แต่สามารถรักษาอาการปวดได้เพียงในระดับน้อยถึงปานกลาง ยาพาราเซตามอลเป็นยาที่เกิดการตีกันกับยาชนิดอื่นๆ ได้น้อย สามารถใช้ในสตรีตั้งครรภ์ และเด็กได้อย่างปลอดภัย หากมีการใช้ในขนาดที่เหมาะสมตามที่มีการแนะนำตามฉลากยา ขนาดยาพาราเซตามอลโดยทั่วไปเมื่อใช้ในการรักษาอาการปวดเบื้องต้นในผู้ใหญ่คือ 500 มิลลิกรัมครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ใน 1 วัน (24 ชั่วโมง) ไม่เกิน 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม) จากขนาดยาดังกล่าวสังเกตว่าหากรับประทานครั้งละ 2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมง จะเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมซึ่งเกิน 4,000 มิลลิกรัม ให้ระมัดระวังการใช้ยาในขนาดสูงดังกล่าว ขนาดยาที่แนะนำในผู้ใหญ่นี้ ใช้สำหรับรักษาอาการปวดเบื้องต้น แนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 5-7 วัน หากจำเป็นต้องใช้นานกว่านี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร นอกจากนี้ยังควรระมัดระวังการใช้พาราเซตามอลในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติ ผู้ที่ดื่มสุราเป็นระยะเวลานาน หรือรับประทานยาที่ทำให้ตับทำงานมากขึ้น เช่น ยาไรแฟมปิน (rifampin) ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรค (antituberculosis) หรือ ยาต้านลมชัก (antiepileptic) ซึ่งได้แก่ ยาเฟนิโทอิน (phenytoin) ยาคาร์บามาซีปีน (carbamazepine) และ ยาฟีโนบาร์บิทkล (phenobarbital) เป็นต้น ยาทรามาดอล (tramadol) เป็นยาแก้ปวดชนิดที่เสพติดได้ (opioid drugs หรือ narcotic drugs) ใช้ในการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยยาชนิดนี้มักถูกสั่งใช้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ มาก่อนแล้วไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้เพียงพอ หรือสั่งใช้ร่วมกับยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ให้มีฤทธิ์บรรเทาปวดได้ดียิ่งขึ้น ทรามาดอลนั้นแก้ปวดได้โดยการออกฤทธิ์เด่นๆ สองชนิด 1. กระตุ้นตัวรับมิว ( receptors) ซึ่งเมื่อตัวรับชนิดนี้ถูกกระตุ้นจะสามารถลดความปวดลงได้ แต่ข้อเสียของการกระตุ้นตัวรับชนิดนี้ คือ การกดการทำงานของระบบประสาท มีผลทำให้เคลิบเคลิ้ม (euphoria) จึงมีการนำ ทรามาดอลไปใช้ทางที่ผิดได้บ่อยในหมู่วัยรุ่น และผู้ใช้ยาเสพติด 2. ทำให้สารสื่อประสาทนอร์อิพิเนฟริน (nor- epinephrine) และเซโรโทนิน (serotonin) มีมากขึ้นในไขสันหลัง ซึ่งจะให้ฤทธิ์บรรเทาปวด จากการออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการปวดของทรามาดอลนั้น หากมีการใช้ยาในกลุ่มนี้ในปริมาณมากเกินขนาด เช่น ครั้งละ 3-4 เม็ด หรือใช้ร่วมกับยาที่มีผลเพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนินบางชนิด เช่น ยาฟลูออกซีทีน (fluoxetine) จะส่งผลให้ระดับเซโรโทนินในร่างกายสูงขึ้นมาก จนอาจเกิดอาการที่เรียกว่า serotonin syndrome ซึ่งอาจมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ได้แก่ ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation) อาการสั่น (tremors) สับสน (confusion) ความกระสับกระส่าย (restlessness) หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อบิดหรือแข็งเกร็ง ภาวะที่มีรีเฟล็กซ์ไวเกิน (hyperreflexia) มีไข้ ความดันโลหิตแปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน รูม่านตาขยาย ไม่รู้สึกตัว ไปจนถึงโคม่า ยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้อีกชนิดหนึ่ง คือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์แก้อักเสบ แก้ปวด ระดับปานกลาง และบางชนิดในกลุ่มนี้สามารถใช้ลดไข้ได้ด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ คือ ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ยามีเฟนามิก แอซิด (mefenamic acid) ยาแอสไพริน (aspirin) และ ยาไพร็อกซิแคม (piroxicam) จากรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และฤทธิ์ที่หลากหลายของยาในกลุ่มนี้ ทำให้ยากลุ่มนิ้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อรักษาอาการปวดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงจากการใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร (gastrointestinal tract irritation) ดังนั้นควรรับประทานยานี้หลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ ไม่ควรรับประทานยานี้ในขณะท้องว่าง ถึงแม้ว่ายาในกลุ่มนี้สามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดหลายๆ อย่างได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง และการใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกันมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป เพราะอาจทำให้เกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reyes syndrome) ในผู้ป่วยเด็ก หลอดลมตีบในผู้ที่มีโรคหอบหืด ไตวายฉับพลันในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะไตบกพร่อง ส่วนการเกิดการตีกันของยาในกลุ่มนี้กับยาจิตเวชนั้น สามารถเกิดได้ เมื่อมีการใช้กับลิเธียม (lithium) ซึ่งเป็นยาปรับอารมณ์ (mood stabilizer) ที่มักใช้ในโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) โดยจะทำให้เกิดพิษจากลิเธียมได้ อาการพิษที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวติดต่อกันเป็นเวลานาน ง่วงซึม มึนงง พูดไม่ชัด สับสน วิงเวียน มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนแรง เดินเซ เคลื่อนไหวกระตุกคล้ายเต้นรำ (Choreoathetosis) เป็นต้น และควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้าที่มีผลเพิ่มสารสื่อประสาทเซโรโทนิน เช่น ยาฟลูออกซิทีน (fluoxetine) ยาเซอร์ทราลีน (sertraline) ยาฟลูวอกซามีน (fluvoxamine) เป็นต้น เนื่องจากอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาเออร์โกตามีน (ergotamine) เป็นยาที่ใช้แก้ปวดศีรษะไมเกรนแบบฉับพลันที่มีประสิทธิภาพดี จึงเป็นยาที่มีการใช้บ่อยในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน การออกฤทธิ์ของยาชนิดนี้ คือ ทำให้หลอดเลือดที่ขยายผิดปกติเกิดการหดตัว จึงทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้มีอันตรายสูง หากมีการใช้อย่างผิดวิธีดังนี้ 1. ใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) ยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ใช้ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (antibiotics) เช่น อะซิโทรมัยซิน (azithromycin) อีริโทรมัยซิน (erythromycin) คาริโทรมัยซิน (clarithromycin) ยาฆ่าเชื้อรา (antifungals) บางชนิด เช่น คีโตโคนาโซล (ketoconazole) และยาต้านไวรัส เช่น ริโทนาเวีย (ritonavir) จะทำให้เกิดการตีกันของยา (drug interaction) ก่อให้เกิดผลเสียที่รุนแรงได้ ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง ใจสั่นเจ็บหน้าอก ปลายมือ ปลายเท้าเย็น หรือชาจนกระทั่งไร้ความรู้สึก และเกิดอาการกล้ามเนื้อตายเนื่องจากการขาดเลือดได้ 2. ใช้ยาเกินขนาดที่กำหนด โดยปกติยาชนิดนี้ เป็นยาที่ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างฉับพลันเท่านั้น แต่มีผู้ป่วยบางรายรับประทานติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาอย่างผิดข้อบ่งใช้ และจากการใช้อย่างผิดวิธีดังกล่าวอาจส่งผลร้ายที่รุนแรงต่อชีวิตได้ เนื่องจากการรับประทานยาเออร์โกตามีนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือหัวใจวายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยรับประทานยาเออร์โกตามีนติดต่อกันทุกวันจะทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยจะไม่มีอาการกำเริบของไมเกรน แต่เมื่อใดที่หยุดรับประทานยา หลอดเลือดดังกล่าวจะขยายตัวมากกว่าปกติเป็นสาเหตุให้เกิดไมเกรนแบบรุนแรงได้ (rebound headache) ดังนั้นผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนควรใช้ยาเออร์โกตามีนเฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ชนิดฉับพลันเท่านั้น และไม่ควรใช้ร่วมกับยาที่ตีกันกับยาเออร์โกตามีน โดยขนาดที่เหมาะสมในการรับประทาน คือ รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1-2 เม็ด จากนั้นทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์ โดยทั่วไปแล้วเมื่อร่างกายเกิดอาการปวด หลายคนมักใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาหรือรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นการเลือกใช้ยาแก้ปวดมักเป็นการช่วยลดอาการปวดในระยะสั้นๆ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่เรารับประทานเข้าไปทำหน้าที่กดระบบประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดให้แก่ร่างกาย ในบางกรณีเมื่อฤทธิ์แก้ปวดของยาหมดไป อาการปวดอาจจะยังคงอยู่ในร่างกาย เพราะว่าอาการปวดเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางสาเหตุไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด เช่น ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ และอาการทางระบบประสาท เป็นต้น ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการใช้ยาหลายชนิด หรืออาการปวดมีลักษณะที่แตกต่างไปจากปกติ เช่น มีอาการปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นพักๆ ปวดเหมือนเข็มเล็กๆทิ่มแทง ปวดเหมือนไฟช็อต ปวดร้าวไปที่บริเวณอื่นๆ หรืออาการปวดที่เกิดขึ้นมีความถี่มากขึ้น ปวดยาวนานมากกว่า 5-7 วัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา และค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดต่อไป https://www.honestdocs.co/what-is-an-analgesic https://www.honestdocs.co/
เข้าชม : 472
|