[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  
มะเร็งปอด อาการ
โดย : ดร. ภัทร   เมื่อวันที่ : อังคาร ที่ 19 เดือน กันยายน พ.ศ.2560   


มะเร็งปอด อาการ
มะเร็งปอดเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง อย่างไรก็ดี มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น
ชนิดของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากจะรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้อีก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสอบมะเร็งปอดแบบง่ายหรือด้วยตนเองดังเช่นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามมีการตรวจสอบใหม่ที่เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose helical computerized tomography) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยได้

อาการของโรคมะเร็งปอด
โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
ไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ)
มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น
หายใจมีเสียงหวีด
เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
ไอมีเลือดปน
เสียงแหบ
ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เช่น ปอดบวม
เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวเนื่องกับมะเร็ง เนื่องจากมีหลายโรคที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด

การตรวจเบื้องต้นและการวินิจฉัยมะเร็งปอด
หากมีอาการที่เข้าข่ายของโรคมะเร็งปอด แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ปอด หากพบความผิดปกติ อาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration) แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยทั่วไปมักทำพร้อมกับการเอกซเรย์หรือ CT scan เพื่อหาตำแหน่งที่ถูกต้องของเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจสอบ
การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy) แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กที่มีไฟผ่านทางจมูกหรือปากเข้าไปสู่ปอด โดยท่อนี้จะสามารถดูดของเหลวหรือตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่สงสัยออกมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด
การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis) แพทย์จะใช้เข็มเจาะที่ช่องอกบริเวณระหว่างปอดและผนังของช่องอก เพื่อทำการเก็บของเหลวบริเวณดังกล่าวมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง
การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy) แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณส่วนบนของกระดูกอก จากนั้นสอดกล้องเข้าไปภายในช่องทรวงอก และนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ
การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy) แพทย์จะใช้กล้องใส่เข้าทางผนังทรวงอกเพื่อตัดก้อนเนื้อจากปอดไปตรวจ
การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan) เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
มะเร็งปอด อาการ
Honestdocs
https://www.honestdocs.co/all-about-advanced-lung-cancer
https://www.honestdocs.co


เข้าชม : 327





Re หัวข้อ :
รูปประกอบ : Limit 100 kB
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
รายละเอียด :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ชื่อของท่าน :


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกะปง
 หมู่ที่ 2 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา 82170 โทร 076-499433 โทรสาร 076-499433
E-mail : nfekapong@hotmail.com
FB : www.facebook.com/nfekpong

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05