# สำนักงานกศน.จังหวัดพังงา
[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
13/05/2567

 

  

อาหารเพื่อสุขภาพ
อี. โคไล

อังคาร ที่ 14 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2554

คะแนน vote : 254  

วิกฤต "อี. โคไล" ระบาดยุโรป ลามจากสัตว์สู่พืช-หวั่นกลายพันธุ์



 



ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาการระบาดของเชื้อแบคทีเรีย "อี. โคไล" ชนิดร้ายแรงในเยอรมนี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 16 ราย รวมถึง 1 รายในสวีเดน และพบผู้ป่วยในอีกอย่างน้อย 9 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปยังเยอรมนี ขณะที่เมืองเบียร์พบผู้ติดเชื้อกว่า 1,500 ราย

แม้เบื้องต้นมีรายงานว่า ต้นตอของเชื้อชนิดนี้มาจากแตงกวาที่นำเข้าจากสเปน แต่หลังตรวจสอบตัวอย่างผักจากทั่วประเทศ 250 ตัวอย่าง พบแตงกวาเพียง 3 ตัวอย่างจากสเปน และ 1 ตัวอย่างที่ไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่มีผลทดสอบเชื้ออี. โคไล เป็นบวก ทว่าเมื่อตรวจสอบเพิ่มพบว่าแตงกวาปนเปื้อนเหล่านี้ไม่ใช่ต้นตอของการระบาดล่าสุด

แม้จะยังไม่พบต้นตอของการแพร่ระบาด แต่เกษตรกรในเยอรมนีได้รับผลกระทบจากการทำลายพืชผักคิดเป็นมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ส่วนสเปนสูญเสียรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็น 286 ล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพราะความกังวลของผู้บริโภค

"เอพี" ระบุว่า ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถหาต้นเหตุของการแพร่ระบาดได้ และยังมึนกับการหาสาเหตุว่า ทำไมเชื้ออี. โคไล สายพันธุ์พิเศษนี้จึงทำให้เกิดอาการในกลุ่ม HUS (hemolytic uremic syndrome) ที่ทำให้ไตวาย ชัก เม็ดเลือดแดงแตก และถึงขั้นโคม่า

สถาบันโรเบิร์ต โคช ระบุว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการ HUS ในเยอรมนี 470 คน ซึ่งโดยปกติแล้วอาการ HUS จะเกิดขึ้นในสัดส่วน 10% ของการติดเชื้ออี. โคไล ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขผู้ป่วยในเยอรมนีอาจจะสูงกว่าที่มีรายงานถึง 3 เท่า เพียงแต่อาจไม่ได้มีรายงานเพราะอาการที่ปรากฏไม่รุนแรงนัก

"ดร.ไฮลด์ ครูซ" ผู้จัดการโครงการความปลอดภัยอาหารขององค์การอนามัยโลกประจำยุโรป ตั้งข้อสังเกตว่า สายพันธุ์เฉพาะที่เรากำลังรับมืออยู่ ดูจะเป็นชนิดพิเศษที่ไม่เคยพบมาก่อน

ดร.ครูซกล่าวว่า สายพันธุ์ใหม่นี้มีลักษณะที่ผิดแผกที่ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น และผลิตสารพิษได้

ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ"พอล ฮันเตอร์" อาจารย์ด้านการดูแลสุขภาพจากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ที่เห็นว่า สายพันธุ์ของเชื้ออี. โคไล ที่ระบาดในยุโรปรอบนี้อาจอันตรายกว่าสายพันธุ์ที่เคยพบก่อนหน้านี้ โดยอาจมีความแตกต่างของยีนที่ทำให้อี. โคไล สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงมากขึ้น

ด้าน "นิวยอร์ก ไทม์ส" อ้างความเห็น "ดร. เจ. เกล็น มอร์ริส" ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเชื้อโรค แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา มองว่า สายพันธุ์อี. โคไล ในเยอรมนีอาจมีการเปลี่ยนแปลงของยีนหรือกลายพันธุ์ จนทำให้แข็งแรงมากขึ้น

"ดร.ฟิลิป ทาร์" อาจารย์ด้านจุลชีววิทยาแห่งวอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ สกูล ออฟ เมดิซีน กล่าวว่า สารพิษในเชื้ออี. โคไล มี 2 รูปแบบหลัก ๆ และสายพันธุ์ที่ระบาดในเยอรมนีก็เป็นเวอร์ชั่นที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีลักษณะที่แปลกไปทำให้ผิดไปจากเดิม และยากที่จะตรวจสอบโดยใช้วิธีแบบเก่า

ทั้งนี้ เชื้ออี. โคไล มีสายพันธุ์แตกต่างกันนับร้อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ร้ายกาจ และโดยธรรมชาติคนเราจะมีแบคทีเรียในร่างกาย แต่จะมีจำนวนน้อยที่เป็นสายพันธุ์อันตราย ซึ่งสายพันธุ์ร้ายแรงนี้จะสามารถผลิตสารพิษได้ และจะเกาะติดในผนังลำไส้ เมื่อปล่อยพิษออกมามาก ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการป่วย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดถึงต้นเหตุของการแพร่ระบาด เพราะผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคมักจะหายไปจากตลาดแล้ว ขณะที่การระบุสายพันธุ์เชื้ออี. โคไล นักวิทยาศาสตร์จะต้องเลี้ยงแบคทีเรียชนิดต้องสงสัยในห้องแล็บ ซึ่งต้องใช้เวลา และการทดสอบสายพันธุ์ก็จะกินเวลาอีก รวมทั้งต้องใช้ห้องแล็บที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ

ที่ผ่านมา เชื้ออี. โคไล สายพันธุ์รุนแรงมักพบในระบบย่อยอาหารของบรรดาปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเชื้อแพร่ระบาดทางอุจจาระ และอาจปนเปื้อนในน้ำ ทว่าการแพร่ระบาดล่าสุดอาจจะมาจากการปนเปื้อนในพืชผัก

"ไทม์" ระบุว่า ไม่พบเชื้ออี. โคไล ในพืชผักบ่อยนัก แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดปัญหาในของสดที่ไม่ได้ปรุงสุก ซึ่งนี่ทำให้เป็นเรื่องท้าทาย

www.ctv.ca อ้างมุมมอง "ทิม ซลาย" อาจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยไรเออร์สัน ว่า อาจเป็นเพราะผักสลัดที่บริโภคไม่ได้ผ่านการปรุงสุก ซึ่งฆ่าเชื้ออี. โคไลได้ และอาจมาจากกระบวนการปลูกพืชออร์แกนิก ซึ่งใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ ซึ่งหากมีเชื้ออี. โคไล ก็จะเกิดการปนเปื้อน ดังนั้นถ้าจะบริโภคพืชผักออร์แกนิกแบบดิบ ๆ ก็ควรจะให้เน้นเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดมากขึ้น



เข้าชม : 3036


อาหารเพื่อสุขภาพ 5 อันดับล่าสุด

      อี. โคไล 14 / มิ.ย. / 2554




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
email สำนักงาน pna_nfedc@nfe.go.th 

สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดพังงา
  ๕๙ หมู่ที่ ๓   ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา  จังหวัดพังงา  ๘๒๐๐๐ โทร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๕ - ๖ โทรสาร ๐๗๖ - ๔๘๑๐๓๗
 มีปัญหาในการใช้งานติดต่อผู้ดูแลระบบ  
muekzero24@gmail.com   ขอบคุณ อ.นิกร เกษโกมล ผู้พัฒนา cms

email สำนักงานกศน.จ.พังงา  pna_nfedc@nfe.go.th 
 
Powered by MAXSITE 1.10